บริษัท กัปตัน โค๊ทติ้ง จำกัด

สีทาอาคาร vs สีทาบ้าน แตกต่างกันยังไง ควรรู้อะไรบ้าง?

เมื่อต้องการเลือกหาสีทาบ้านหรือทาอาคาร แล้วไปเลือกตามร้าน บางทีเราจะเห็นป้ายสินค้าระบุว่า “สีทาอาคาร” “สีทาบ้าน” สลับกันไปบ้าง ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า สีทั้งสองประเภทนี้ เป็นสีประเภทเดียวกันหรือเปล่า 

แล้วถ้าเป็นสีคนละประเภทสามารถใช้แทนกันได้หรือไม่ แล้วถ้าต่างกัน ควรเลือกอย่างไรให้เหมาะใช้กับอาคารหรือบ้านของเราดี?

บทความนี้มาไขข้อสงสัยให้กับคนที่กำลังเลือกสีทาบ้าน ว่าสีทาอาคารกับสีทาบ้าน มีความแตกต่างกันที่ตรงไหน และมีอะไรที่ควรต้องรู้บ้างในการเลือกซื้อสีให้ถูกประเภทการใช้งาน

สีทาอาคาร vs สีทาบ้าน จริงๆ แล้วต่างกันหรือไม่

สีทาอาคาร หมายถึง สีที่ใช้ทาสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่ใช้สำหรับจุดประสงค์อื่น เช่น โรงงาน คลังสินค้า ลานจอดรถ ฯลฯ สีทาอาคาร จึงเน้นความทนทาน แข็งแรง และคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันการกัดกร่อนจากสารต่างๆ ได้ เช่น เกลือ รังสี UV สารกัดกร่อนจากงานอุตสาหกรรม 

สีทาบ้าน หมายถึง สีที่ใช้ทาบ้านหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งจะหมายความรวมถึง สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่มนุษย์อาศัยหรือใช้งานอยู่ด้วย เช่น โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ โดยสีทาบ้านจะต้องมีความปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัย ไม่ปล่อยสารพิษหรือสารระเหยออกมา นอกจากนี้ ยังมักถูกออกแบบมาให้มีสีสันสวยงาม มากกว่าสีทาอาคาร และมีให้เลือกมากมายหลากสไตล์ตามความชื่นชอบของแต่ละบ้าน 

อย่างไรก็ตาม คำสองคำนี้ สีทาอาคาร สีทาบ้าน ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพียงแต่แตกต่างกันที่ความหมายในการเลือกใช้คำเท่านั้น เมื่อไปเลือกสีที่ร้าน ไม่ว่าจะเจอ “สีทาอาคาร” หรือ “สีทาบ้าน” ก็ไม่ต้องสับสน เพราะหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่เราต้องรู้เพื่อเลือกใช้สีมาทาได้ถูกประเภท มีอยู่ 3 สิ่งด้วยกัน ได้แก่

  1. ประเภทสีที่เหมาะกับพื้นผิววัสดุ
  2. วิธีการเลือกสีทาภายนอกและสีทาภายใน 
  3. ชนิดฟิล์มสีทาอาคาร สีทาบ้าน

1. ประเภทสีที่เหมาะกับพื้นผิววัสดุ

พื้นผิวของแต่ละวัสดุมีลักษณะแตกต่างกันไป สำหรับสีทาอาคาร สีทาบ้าน จริงๆ แล้วก็มีหลากหลายประเภทให้เราเลือกใช้ให้เหมาะกับวัสดุแต่ละประเภท 

สีทาอาคาร สีทาบ้านสำหรับทาปูน 

สีสำหรับทาปูนโดยเฉพาะ ใช้สำหรับงานคอนกรีต ทาเคลือบพื้นปูน ผนังปูน ฝ้าเพดาน และกระเบื้องแผ่นเรียบ เป็นสีประเภทสีน้ำ (พลาสติกหรืออะคริลิค) ให้สีสด คงทน ยึดเกาะดี เพราะผลิตมาจากกาวชนิดพิเศษ โดยสีทาปูนก็จะมี 2 ประเภทที่ต้องใช้ร่วมกัน ได้แก่ สีทารองพื้นและสีทับหน้า

  • สีทารองพื้น เป็นสีที่ต้องใช้ทาก่อนลงสีทับหน้า (สีจริงที่ต้องการทา) เพื่อให้สีทับหน้าสามารถยึดเกาะกับพื้นผิวได้ดี มีให้เลือกสำหรับรองพื้นปูนเก่าและปูนใหม่ 
  • สีทับหน้า เป็นสีจริงๆ ที่เราต้องการใช้ เช่น สีแดง สีเขียว สีส้ม ฯลฯ ใช้ทาหลังสีทารองพื้น ให้สีสันสวยงาม มีให้เลือกใช้แบ่งเป็นสีทาภายนอกและสีทาภายใน 

สีทาอาคารและสีทาบ้านสำหรับงานไม้

สีทาอาคารและสีทาบ้านสำหรับงานไม้

สีทาไม้เป็นสีที่ออกแบบมาเพื่อทางานไม้โดยเฉพาะ เพราะพื้นผิวของไม้มีลักษณะที่แตกต่างจากปูน ใช้ทาประตูไม้ พื้นไม้ ผนังไม้ กรอบประตูไม้ รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยสีทาไม้ก็มี 2 ประเภทให้เลือก ตามคุณสมบัติที่ต้องการ ได้แก่ 

  • สีทาเคลือบไม้ เป็นสีทาไม้ที่มีลักษณะโปร่ง เมื่อทาสีลงไม้ จะยังสามารถมองเห็นลวดลายของไม้ได้ชัดเจน เหมาะสำหรับงานไม้ที่ต้องการโชว์ลายไม้ หรือใช้ทาเคลือบไม้เก่าให้ได้สีสันที่สวยสดคล้ายสีดั้งเดิมตามธรรมชาติ 
  • สีทับหน้าไม้ เป็นสีน้ำมันที่มีลักษณะทึบ ใช้สำหรับทาปิดพื้นผิวของไม้ที่มีตำหนิหรือไม่ต้องการโชว์ลายไม้ สีสด ชัด ทนทาน 

สีทาอาคาร สีทาบ้าน สำหรับงานเหล็ก

สีสำหรับงานเหล็ก เช่น โครงเหล็ก ระแนง หรือรั้วบ้าน รวมไปถึงงานเหล็กต่างๆ ที่ต้องการความสวยงาม โดยสีทาอาคาร สีทาบ้านสำหรับงานเหล็กจะเป็นสีน้ำมัน มีคุณสมบัติที่สามารถเกาะติดกับเหล็กได้ โดยสีทาเหล็กก็มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

  • สีทากันสนิม เป็นสีทารองพื้นเหล็กก่อนทาสีทับหน้าสำหรับงานเหล็ก ช่วยเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะของสีน้ำมันกับพื้นผิวเหล็ก และช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กเกิดสนิม
  • สีทาเหล็ก เป็นสีทาทับหน้าฟิล์มทึบสำหรับงานเหล็กโดยเฉพาะ ให้สีสด สวย 

2. วิธีการเลือกสีทาภายนอกและสีทาภายใน 

หลักจากรู้ประเภทของสีที่เหมาะใช้กับพื้นผิวของวัสดุแต่ละวัสดุแล้ว สิ่งต่อมาที่ควรต้องรู้จักและใช้ในการเลือกสีทาอาคาร สีทาบ้าน คือการเลือกใช้ สีทาภายนอก หรือ สีทาภายใน 

สีทาภายนอก 

สีทาภายนอกอาคาร เป็นสีทับหน้าที่ต้องมีความทนทานกับแสงแดดและสภาพอากาศต่างๆ ได้ดี เพราะต้องรับผลกระทบจากสภาพอากาศ ฝน ความชื้น และแดดตลอดเวลา โดยสีสดสวย ไม่ซีดจางได้ง่าย 

สีทาภายนอกจึงมักเติมส่วนผสมบางอย่างลงไปเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้กับสี โดยคำแนะนำสำหรับการเลือกใช้สีทาภายนอก ได้แก่ 

  • ทนทานต่อสภาพอากาศ เช่น แดด ฝน ความชื้น และเชื้อรา เพราะสีทาภายนอกต้องรับผลกระทบจากสภาพอากาศต่างๆ ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะความร้อน สีทาภายนอกต้องสามารถสะท้อนแสงและความร้อน ปกป้องไม่ให้บ้านร้อน
  • ปกปิดรอยแตกร้าว รอยแตกลายงา เพราะกำแพงภายนอกอาคารต้องรับความร้อนตลอดเวลาจึงอาจทำให้เกิดรอยแตกร้าวได้ สีทาภายนอกที่ดีจะต้องมีความยืดหยุ่น สามารถหดกลับปกปิดรอยร้าวได้
  • ป้องกันน้ำซึมผ่านและกันความชื้น ไม่ว่าจะเป็นปูน คอนกรีต ไม้ หรือเหล็กสีทับหน้าควรต้องกันน้ำและความชื้นไม่ให้ซึมผ่านเข้าไปกัดกร่อนเนื้อวัสดุได้ 
  • เช็ดถูก ทำความสะอาดได้ โดยสีไม่ลอก สามารถทำความสะอาดคราบสกปรกได้โดยไม่ทำลายเนื้อสี
  • ป้องกันเชื้อราและตะไคร่น้ำได้ สีทาภายนอกส่วนใหญ่จะเติมส่วนผสมพิเศษที่ช่วยป้องกันและยับยั้งเชื้อรา 

สีทาภายใน 

สีทับหน้าสำหรับทาภายใน มีราคาถูกกว่าสีทาภายนอก เพราะไม่จำเป็นต้องทนทานต่อแสงแดดหรือสภาพอากาศเท่าสีทาภายนอก ทั้งนี้ สีทาภายในก็มีเคล็ดลับที่ควรเลือกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ต้องไม่เป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัย

  • เนื้อสีละเอียด สวย เงางาม สามารถช่วยสร้างบรรยากาศให้กับห้องได้
  • เช็ดถูทำความสะอาดได้ง่าย บางทีผนังภายในบ้านอาจเปื้อนคราบสกปรก เช่น คราบอาหารหรือสีที่เด็กเล็กวาดเขียน ต้องเช็ดออกง่ายโดยที่เนื้อสีไม่หลุดออก
  • ป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย เพราะภายในอาคารมีโอกาสที่จะอมความชื้นมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ห้องน้ำหรือห้องใต้ดิน มีความชื้นค่อนข้างสูง ทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเติบโตได้ง่าย อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้
  • ปราศจากกลิ่นฉุน สารเคมี และสารระเหย (Low VOCs) เพราะสีทาภายในใช้ทาในพื้นที่ที่คนอยู่อาศัย จึงต้องปลอดภัย ปราศจากกลิ่นสีทาบ้านและสารที่เป็นอันตรายต่อชีวิต 

3. ชนิดฟิล์มสีทาอาคาร สีทาบ้าน

การเลือกสีทาบ้าน นอกจากเราจะเลือกโทนสีทาบ้านที่ชอบและเลือกให้ถูกประเภทแล้ว อีกสิ่งที่ต้องรู้ก็คือ ชนิดของฟิล์มสีทาบ้าน ซึ่งฟิล์มสีก็คือชั้นความหนาของเนื้อสีของสีทาอาคาร สีทาบ้าน ที่ทำให้ออกสีสด สีด้าน หรือเกิดเงา 

ชนิดฟิล์มสีทาอาคาร สีทาบ้าน

ฟิล์มสีชนิดด้าน

สีที่เป็นฟิล์มชนิดด้าน ลักษณะผิวของสีจะด้าน ดูเรียบเนียน ไม่สะท้อนแสงและเงา ทำให้รู้สึกสบายตา เหมาะสำหรับห้องนอนหรือบริเวณที่ต้องการความสบายตา ไม่สว่าง โดยจุดเด่นของฟิล์มชนิดด้าน คือ ช่วยปกปิดรอยต่างๆ ได้อย่างดี 

ฟิล์มสีชนิดเงา

สีชนิดฟิล์มเงาจะให้ผิวที่เรียบ เงางาม ให้ความรู้สึกหรูหรา สะท้อนแสงได้ดี ทำให้ห้องหรืออาคารที่ทาสีฟิล์มเงาดูสว่าง สีสด และด้วยคุณสมบัติที่ลื่นเงา ทำให้ทำฝุ่นและคราบสกปรกติดยาก ทำความสะอาดง่าย จึงเหมาะสำหรับใช้ทาห้องที่มีโอกาสเลอะคราบง่าย เช่น ห้องครัว ห้องเด็กเล็ก ห้องทำงานฝีมือ

ฟิล์มสีชนิดกึ่งเงา 

สีชนิดฟิล์มกึ่งเงาจะมีลักษณะผิวที่เงาเล็กน้อย ไม่ด้านจนเกินไป ยังคงมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงอยู่บ้าง ทำให้ห้องสว่าง มีความเป็นธรรมชาติ มีความลื่นเล็กน้อยทำให้ทำความสะอาดได้ง่าย เหมาะกับห้องนั่งเล่นและสะท้อนแสงธรรมชาติได้นุ่มนวล

เลือกสีทาอาคาร สีทาบ้านง่ายๆ ไม่สับสน

สีทาอาคาร กับ สีทาบ้าน คือ สีประเภทเดียวกันที่ใช้ทาอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพียงแต่เรียกต่างกันตามความคุ้นเคยเท่านั้น หากเจอป้ายสินค้าหรือชื่อสินค้าที่เขียนแตกต่างกันเป็น “สีทาอาคาร” และ “สีทาบ้าน” จึงไม่ต้องสับสน แต่สิ่งที่เราต้องรู้เพื่อใช้พิจารณาเลือกสีให้เหมาะกับการใช้งานและสไตล์ที่ต้องการจริงๆ ได้แก่

  1. ชนิดของสีที่เหมาะกับการทาบนวัสดุต่างๆ ได้แก่ พื้นผิวปูน พื้นผิวไม้ และพื้นผิวเหล็ก
  2. การเลือกชนิดสีให้เหมาะกับการใช้ทาภายนอกหรือภายในอาคาร 
  3. ชนิดของฟิล์มสี เพื่อใช้เลือกเฉดสี ความเงางามที่เหมาะกับบรรยากาศห้องหรือตัวอาคาร

เมื่อทำความเข้าใจ 3 เรื่องข้างต้นแล้ว จะช่วยให้คุณสามารถเลือกสีทาอาคาร สีทาบ้าน ได้อย่างถูกต้องตามการใช้งาน และตรงใจ ได้สีสวยงาม ทนทาน ให้บ้านหรืออาคารที่ต้องการทาสี มีสีสวยสดยาวนาน ไร้ปัญหาสีกวนใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save